การสัมภาษณ์งานเป็นด่านสำคัญที่ชี้ชะตาคนจำนวนมากว่าจะได้เข้าไปทำงานหรือไม่ หากไม่เตรียมตัวให้พร้อมแล้วละก็ ต่อให้มีความสามารถมากแค่ไหน ก็อาจแสดงออกมาให้อีกฝ่ายรับรู้ได้ไม่เต็มที่
หมีคำตอบจึงได้รวบรวมคำถามสัมภาษณ์งานสุดหิน พร้อมแนวทางคำตอบมาไว้ให้ทุกคนเตรียมตัวที่นี่แล้ว มาดูกันเลย
1. แนะนำตัวเองให้ฟังหน่อย
คำตอบ – ควรเริ่มด้วยการเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ตรงสายและเป็นประโยชน์ต่องานใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นงานล่าสุด บอกตำแหน่งงาน ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงความสำเร็จหรือผลงานชิ้นโบแดงที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทใหม่
สำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน ควรยกตัวอย่างกิจกรรมสมัยเรียนที่ใกล้เคียงหรือนำทักษะมาประยุกต์ใช้ได้ หรือถ้าทำ Portfolio ขึ้นมาเพื่อสมัครงานโดยเฉพาะ ก็จะยิ่งสร้างความประทับใจและแสดงความมุ่งมั่นทุ่มเทได้อย่างชัดเจน
2. รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับบริษัทของเรา
คำตอบ – การจะตอบคำถามข้อนี้ได้ดี เราต้องเตรียมศึกษาข้อมูลบริษัทและแวดวงอุตสาหกรรมนั้นๆ ไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ห้ามด้นสดโดยเด็ดขาด เพราะข้อมูลอาจผิดพลาดได้ หากไม่แน่ใจจริงๆ ก็สามารถออกตัวไว้ก่อนว่าอาจจะรู้ไม่ดีเท่าคนในบริษัทเอง และขอให้ผู้สัมภาษณ์เล่าเพิ่มเติม
ข้อมูลสำคัญที่ควรรู้คือ บริษัทนั้นทำอะไรบ้าง จุดยืนหรือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในวงการนั้นเป็นอย่างไร มีสินค้าตัวไหนที่ควรพูดถึงบ้าง และใครคือคู่แข่งคนสำคัญของบริษัท
3. ทำไมถึงสนใจงานนี้
ผู้สัมภาษณ์งานมือใหม่หลายคนมักติดกับดักคำถามข้อนี้ โดยตอบตามความรู้สึกหรือสถานการณ์ของตัวเองไปจริงๆ เช่น สนใจงานนี้เพราะท้าทาย น่าสนุก ที่ทำงานใกล้บ้าน ฯลฯ เรื่องพวกนี้คิดในใจได้ แต่ไม่ควรพูดออกไป เพราะจะทำให้เราดูสนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ในขณะที่อีกฝ่ายกำลังหาคนมาทำงานเพื่อบริษัท
รวมถึงจริงๆ แล้ว สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการรู้จากคำถามข้อนี้คือ “คุณเหมาะกับงานนี้จริงๆ หรือเปล่า และทำไมเราต้องจ้างคุณ” ต่างหาก
คำตอบ – เน้นแสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่เราสนใจงานนี้ เพราะเรามีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่ระบุไว้ใน Job Description พร้อมที่จะช่วยพัฒนาหรือนำพาองค์กรของคุณให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้
4. จุดอ่อนของคุณคืออะไร
ผู้สัมภาษณ์มักถามคำถามนี้เพื่อทดสอบไหวพริบ ในขณะเดียวกันก็ดูว่าลักษณะของผู้สมัครตรงกับที่ต้องการหรือไม่
คำตอบ – แนะนำให้ตอบจุดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ ที่พัฒนาหรือหาเรื่องอื่นมาทดแทนได้ง่าย รวมถึงจุดอ่อนในอดีตที่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม เราไม่แนะนำให้ละเลยจุดอ่อนที่แท้จริงของคุณ เพราะขณะที่คุณอ่านบทความนี้อยู่ คุณก็น่าจะนึกออกแล้วว่า จุดอ่อนจริงๆ ที่ทำให้คุณทำงานได้ไม่สมบูรณ์มีอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าก็ควรปรับปรุงจุดอ่อนนั้น หรือพยายามหาจุดแข็งอื่นมาทดแทนให้ได้เช่นกัน เพราะต่อให้เราตอบคำถามดีจนได้งาน แต่จุดอ่อนนั้นก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานจริงอยู่ดีนั่นเอง
6. ทำไมลาออกจากบริษัทเก่า
คำตอบ – เราควรพูดถึงบริษัทและเจ้านายเก่าอย่างให้เกียรติ และพยายามพูดเรื่องลบให้ดูเป็นกลางมากที่สุด สาเหตุที่ไม่ควรพูดเรื่องนี้ในแง่ลบ เพราะจะทำให้เราดูมีทัศนคติไม่ดี อีกฝ่ายอาจจะกำลังคิดว่า คุณนินทาที่ทำงานเก่าซะเละเทะขนาดนี้ ถ้าได้มาอยู่ที่นี่ ก็อาจจะเป็นตัวสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีในที่ทำงาน หรือที่เรียกว่า toxic people นั่นเอง
ตัวอย่างเรื่องที่ไม่ควรพูด เช่น โครงสร้างบริษัทเก่าไม่ดี เงินเดือนน้อย เจ้านายเรื่องมาก อยากหาความท้าทายใหม่ๆ อยากหางานใกล้บ้าน ฯลฯ และควรตบท้ายว่าทำไมเราจึงเหมาะกับงานที่ใหม่นี้มากกว่า
7. วางแผนอีก 5 ปีข้างหน้าไว้ยังไง / จะทำงานที่นี่นานเท่าไร
คำตอบ – แน่นอนว่าหลายๆ คนก็อาจไม่ได้วางแผนไว้ยาวขนาดนั้น หรือบางครั้งก็ยังไม่รู้อนาคตเลยด้วยซ้ำ ในกรณีนี้ควรตอบไปทีละขั้น โดยเริ่มจากช่วงแรกของการทำงานก่อน เช่น 6 เดือน – 1 ปีแรก จะใช้เวลาปรับตัว สั่งสมความรู้ประสบการณ์ หลังจากนั้น ในปีที่ 2-3 ก็จะพัฒนาตัวเองเพื่อเติบโตในสายงาน ส่วนปีที่ 4 ก็อาจจะพูดในเชิงคาดการณ์ว่าคงต้องมาปรึกษาหารือกันว่าเราสามารถเติบโตไปทางไหนได้บ้าง ฯลฯ
8. คุณชอบทำงานเป็นทีมหรือทำงานคนเดียว
คำตอบ – ควรตอบกลางๆ หรือตอบว่าทำได้ทั้งสองแบบ เพราะโดยทั่วไปแล้วในองค์กรยังไงคุณก็ต้องทำงานให้ได้ทั้งสองแบบ และควรยกตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานทั้งสองแบบมาเล่าด้วย แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าเข้าใจเนื้องานชัดเจนจริงๆ ว่าเน้นทำแค่แบบเดียว ก็สามารถตอบให้ตรงกับเนื้องานได้
9. อะไรคือความสำเร็จสูงสุดในการทำงาน
คำตอบ – ให้พูดถึงความสำเร็จครั้งใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานและผลประโยชน์ของบริษัท เช่น แก้ปัญหายากๆ ได้ ช่วยประหยัดเงินหรือหาเงินให้บริษัท ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ฯลฯ
สำหรับการเล่า ควรเล่าเป็นเรื่องราวให้ดูน่าตื่นเต้น สามารถพูดถึงเวลา สถานที่และตัวละครสำคัญๆ ได้ โดยเริ่มเล่าจากปัญหาหรือความท้าทาย ทางออก และความสำเร็จที่เราทำได้เป็นรูปธรรม
10. ความผิดหวัง/ล้มเหลวที่ร้ายแรงที่สุดในการทำงานคืออะไร / เคยทำงานพลาดเรื่องอะไรบ้าง
คำตอบ – แน่นอนว่าทุกคนเคยทำผิดพลาดมาทั้งนั้น แต่สำหรับการสัมภาษณ์งาน อาจต้องเลือกพูดถึงความผิดพลาดที่ไม่ร้ายแรงจนเกินไป ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทและไม่ผิดจริยธรรม
ส่วนหลักการเล่าก็คล้ายๆ กับข้อ 4 และ 9 แต่ครั้งนี้อาจไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เริ่มด้วยสาเหตุของปัญหา วิธีที่คุณพยายามแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด และจบด้วยสิ่งที่คุณได้เรียนรู้และปรับปรุงตนเองจนทำให้ไม่ผิดพลาดแบบเดิมอีก
11. เคยขัดแย้งกับคนในที่ทำงานไหม / ไม่ชอบคนแบบไหน ถ้าต้องร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบจะทำยังไง
คำตอบ – ไม่ผิดหรอกถ้าเราจะเคยขัดแย้งกับคนในที่ทำงานเก่าหรือไม่ชอบทำงานกับคนบางประเภท แต่หัวใจสำคัญของการตอบคำถามเชิงลบแบบนี้ก็คือ การหลีกเลี่ยงการว่าร้ายคนอื่น ให้เหตุผลที่เหมาะสมว่าทำไมถึงมีปัญหา อธิบายความพยายามในการแก้ปัญหา และสรุปบทเรียนที่ได้รับนั่นเอง
12. มีคำถามเพิ่มเติมไหม
คำตอบ – ควรตอบว่ามีและถามคำถามกลับไปบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราก็สนใจบริษัทนี้และกระตือรือร้นอยากจะทำงาน แนะนำให้ถามเกี่ยวกับองค์กรและการทำงานก่อน ส่วนเรื่องสวัสดิการและผลประโยชน์ของเรา ก็ถามได้และควรถามเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ควรเก็บไว้หลังๆ หน่อย เพื่อไม่ให้ดูหวังผลเกินไป
สุดท้ายนี้ เราแนะนำให้ทุกคนฝึกฝนการตอบคำถามสัมภาษณ์งานซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนขึ้นใจ และพูดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นคำตอบของเราอาจจะฟังดูเป็นหุ่นยนต์เกินไป และที่สำคัญอย่าลืมใส่ตัวตนและความจริงใจลงไปในคำตอบเหล่านั้นด้วย ขอให้ทุกคนได้งานตามที่หวังไว้นะ 🙂