24.6 C
Thailand
Monday, November 25, 2024
Homeการดูแลตัวเอง15 วิธีทำให้นอนหลับง่าย เร็ว ลึก ตื่นมาสดชื่น

15 วิธีทำให้นอนหลับง่าย เร็ว ลึก ตื่นมาสดชื่น [ไม่ต้องใช้ยา]

ปัญหานอนไม่หลับ หลับยาก หลับไม่สนิท มักมีสาเหตุมาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม และสุขภาพด้านร่างกายและจิตใจ

เราจึงได้รวบรวม 15 วิธีทำให้นอนหลับง่าย เร็ว และลึก ที่ครอบคลุมถึงสาเหตุทั้ง 3 ส่วนนี้มาฝากกัน มาดูกันเลย

1. เลิกเล่นโทรศัพท์มือถือและดูทีวีก่อนนอน

แสงคือศัตรูสำคัญของการนอน แต่แสงสีฟ้า (Blue light) จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต โทรทัศน์ ฯลฯ ร้ายแรงยิ่งกว่า

แสงสีฟ้าจะทำให้สมองเข้าใจว่าเป็นเวลากลางวัน และลดการหลังเมลาโทนิน (Melatonin) ทำให้เราไม่รู้สึกง่วง

นอกจากนี้ ความเครียดจากการดูข้อมูลข่าวสาร ก็เป็นอีกตัวการหนึ่งที่ทำให้เรานอนไม่หลับอีกด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการดูหน้าจอ 2 ชั่วโมงก่อนนอน

Note

เมลาโทนิน (Melatonin) คือ ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกง่วง ถูกสร้างโดยสมอง และส่งผลโดยตรงต่อกิจวัตรการนอนของมนุษย์ สมองจะหลั่งเมลาโทนินเข้าสู่กระแสเลือด เวลาประมาณ 21.00 น. ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการนอน

2. หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน

หลีกเลี่ยงการนอนกลางวันเกิน 30 นาที และไม่ควรนอนหลัง 16.00 น. เป็นต้นไป แต่ถ้าจะให้ดี ไม่นอนกลางวันเลยจะดีกว่า

เคล็ดลับ

หลังมื้ออาหารเย็น บางครั้งเราจะรู้สึกง่วง ถ้ายังไม่พร้อมนอน อย่าเผลอหลับเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นคืนนี้ทำยังไงก็คงหลับยากแล้วล่ะ

3. นอนให้เป็นเวลา

เมื่อรู้สึกง่วง ควรเข้านอนทันที พยายามนอนและตื่นเวลาเดิมให้เป็นกิจวัตร ถึงจะเป็นวันหยุดก็ไม่ควรให้ห่างจากเวลาปกติเกิน 1 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มเคยชิน ทำให้หลับและตื่นง่ายขึ้น

เว็บไซต์ Healthline อ้างงานวิจัยหลายฉบับที่ระบุว่า เวลานอนที่ไม่เป็นกิจวัตรส่งผลเสียต่อนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) และระดับของเมลาโทนิน

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พอนอนผิดเวลา ร่างกายก็รวนไปหมด ทำให้นอนหลับยาก ก็เลยนอนผิดเวลาอีก กลายเป็นวงจรแห่งการนอนไม่หลับนั่นเอง

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ควรทำตัวให้กระฉับกระเฉงและเคลื่อนไหวร่างกายเยอะๆ ระหว่างวัน ไม่ควรนั่งติดโต๊ะทำงานมากเกินไป

การออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีทำให้นอนหลับง่ายที่ได้ผลดีที่สุด โดยงานวิจัยของ University of São Paulo ระบุว่า การออกกำลังกายส่งผลดีต่อผู้มีอาการนอนไม่หลับรุนแรง โดยช่วยทำให้หลับเร็วขึ้น 55% ลดเวลาตื่นกลางดึก 30% ลดความวิตกกังวล 15% และเพิ่มเวลานอนโดยรวม 18%

5. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย

หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าสมองแล่นตอนกลางคืน และชอบคิดอะไรเรื่อยเปื่อยจนพาลให้นอนไม่หลับ

ทางที่ดีควรทำกิจวัตรประจำวันให้เสร็จเร็วขึ้น จะได้มีเวลาคิดทบทวนเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อย จดบันทึกไว้ แล้วปล่อยจิตใจให้ผ่อนคลาย

กิจกรรมที่น่าสนใจอาจเป็น การนั่งสมาธิ ทำโยคะเบาๆ ฟังเพลงสบายๆ อ่านหนังสือที่เนื้อหาไม่หนัก

6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

การดื่มไวน์ วิสกี้ หรือเบียร์ซักแก้วหนึ่งก่อนนอนอาจช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย แต่มันเป็นความเชื่อที่ผิด!

สำนักข่าว BBC เผยแพร่ผลสำรวจคำแนะนำเรื่องการนอนแบบผิดๆ ที่พบบ่อยทางอินเทอร์เน็ตของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งพบว่า “(แอลกอฮอล์) มันอาจช่วยให้คุณหลับ แต่กลับทำให้คุณภาพการนอนของคุณลดลงอย่างมากในคืนนั้น”

“ที่เป็นเช่นนี้เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปรบกวนการนอนหลับลึกแบบกรอกลูกตาไปมาอย่างรวดเร็ว (REM) ซึ่งสำคัญต่อความทรงจำและการเรียนรู้ของคนเรา

นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้เราขับปัสสาวะออกมามากผิดปกติ ซึ่งนั่นอาจทำให้คุณต้องลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยขึ้นด้วย” – BBC

7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ข้อนี้ทุกคนน่าจะรู้ดีอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือ ช่วงเวลา ต่างหาก

คาเฟอีนสามารถอยู่ในกระแสเลือดได้ 6-8 ชั่วโมง ดังนั้นก่อนดื่มให้คำนวณเวลาไว้เลยแต่ถ้าจะให้ดี หลัง 15.00-16.00 น. ก็ไม่ควรดื่มแล้ว

เคล็ดลับ

คาเฟอีนไม่ได้อยู่ในแค่ชาแกาแฟเท่านั้น ยังมีขนมและเครื่องดื่มบางชนิดที่อาจผสมคาเฟอีนด้วย เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ ขนมหวานบางชนิด ดาร์กช็อกโกแลต ฯลฯ

8. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน

การดื่มน้ำก่อนนอน อาจทำให้คุณต้องตื่นกลางดึกเพื่อไปเข้าห้องน้ำ รวมถึงอาการปวดปัสสาวะก็อาจทำให้คุณฝันร้ายและรบกวนการนอนได้

จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย

9. ระมัดระวังเรื่องการกินมื้อดึก

หิวเกินไป หรือ อิ่มเกินไป ก็ทำให้คุณนอนไม่หลับได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นควรกินอาหารเย็นในปริมาณที่พอเหมาะก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

แต่ถ้าหิวจริงๆ สามารถหาของว่างเบาๆ รองท้องก่อนนอนได้ เช่น นม โยเกิร์ต กล้วย ฯลฯ

10. อาบน้ำอุ่น

การแช่น้ำอุ่นช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย แต่หากไม่สะดวก เราสามารถอาบหรือแช่เท้าแทนได้

เคล็ดลับ

ควรอาบน้ำก่อนนอนซักระยะหนึ่ง เพราะแม้จะเป็นน้ำอุ่น แต่ความสดชื่นหลังอาบน้ำ และสิ่งที่ต้องทำอื่นๆ เช่น การไดร์ผม ดูแลผิว ฯลฯ อาจทำให้เรารู้สึกง่วงน้อยลง

11. ถ้านอนไม่หลับ ไม่ควรฝืนนอน

การฝืนข่มตานอน ทั้งๆ ที่นอนไม่หลับ “ทำให้เรามีความคิดเชื่อมโยงระหว่างเตียงกับการนอนไม่หลับ” ดร.ร็อบบิ้นส์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว

ถ้าใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาทีแล้วยังนอนไม่หลับ ควรหาอะไรทำเพลินๆ จนกว่าจะรู้สึกง่วงนอน อย่างเช่นกิจกรรมในข้อ 5 แต่ระวังจะเพลินเกินไปจนนอนไม่หลับกว่าเดิมล่ะ

12. ควบคุมแสงและเสียงในห้องนอน

ควบคุมแสงในห้องนอนให้ดี โดยเฉพาะแสงไฟจากถนน หรือแสงที่ส่องลอดใต้ประตูเข้ามา อย่างไรก็ตาม หากมืดเกินไปก็อาจทำให้รู้สึกอึดอัดได้เหมือนกัน

ในกรณีที่นอนไม่หลับ แล้วหากิจกรรมอย่างอื่นทำ หรือลุกไปเข้าห้องน้ำ ไม่ควรเปิดไฟสว่างเกินไป เพราะอาจทำให้กลับมานอนต่อยาก

เสียงภายนอกเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก โดยเฉพาะที่อยู่คอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ วิธีเบื้องต้นที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ วางเตียงให้ห่างผนัง อุดช่องว่างตรงประตู หน้าต่าง ตกแต่งห้องด้วยผ้า วางเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ๆ ติดผนังที่มักมีเสียงลอดเข้ามา ฯลฯ

13. ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม

สำหรับคนไทย อากาศร้อนคืออีกปัญหาใหญ่ที่ทำให้นอนหลับยาก ควรหาวิธีทำให้ห้องเย็น หรือปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับเครื่องนอนที่เราใช้ จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

14. เลือกเครื่องนอนที่ชอบ

ควรเลือกเตียง ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่มที่นอนแล้วเย็น ให้ความรู้สึกผ่อนคลายสบายตัว

งานวิจัยหนึ่งระบุว่า ผ้าห่มที่หนาและหนัก อย่างเช่น ผ้านวม ช่วยลดอาการนอนไม่หลับได้ดีกว่าผ้าห่มที่มีเนื้อผ้าบางเบา โดยหลังจากใช้ผ้าห่มแบบนี้เป็นเวลา 12 เดือน 78% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยหายจากอาการนอนไม่หลับ

15. ปรึกษาแพทย์

หากลองปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมแล้ว ยังรู้สึกว่านอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับติดต่อกัน 3 วัน/สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาการเจ็บป่วยบางอย่างและการใช้ยาบางชนิดก็ส่งผลให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก
bbc.com
healthline.com
mayoclinic.org
paolohospital.com
helpguide.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

ห้ามพลาด